Friday, 21 March 2025

เที่ยวอีสานใต้ อารยธรรมขอมโบราณ ปราสาทพนมรุ้ง

ภาคอีสานของเราถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ตามการท่องเที่ยวและภูมิศาสตร์ คือ

  • อีสานเหนือ หนองคาย / บึงกาฬ / เลย / อุดรธานี / หนองบัวลำภู / กาฬสินธุ์ / ขอนแก่น 
  • อีสานกลาง สกลนคร / พนม / มุกดา / อำนาจเจริญ / ยโสธร / ร้อยเอ็ด / มหาสารคาม / ชัยภูมิ 
  • และ อีสานใต้ นครราชสีมา / บุรีรัมย์ / สุรินทร์ / ศรีสะเกษ / อุบลราชธานี

ตามรูปแบบเหล่านี้จะเห็นได้ว่า บางจังหวัดอาจมีการโยกย้ายให้เหมาะสมแล้วแต่จะจับกลุ่มในเรื่องใด ซึ่งหากพูดถึงแหล่งอารยธรรมขอม ที่มีปรากฎมากในประเทศไทยแล้วนั้น มักปรากฎให้เห็นในกลุ่มอีสานใต้บ้านเรา โดยอาจจะมี จังหวัดชัยภูมิ ร่วมอีกด้วย

แผนที่อีสาน

แผนที่อีสาน

ที่ผมได้เกริ่นมาทั้งหมดนั้นเพื่อจะได้ชี้ให้เห็นแหล่งอารยธรรมขอมโบราณที่เชื่อมโยงทั้ง 6 จังหวัด ซึ่งรวมถึงจังหวัดชัยภูมิด้วย โดยดินแดนทั้งหมดนี้มีอารยธรรมที่เกี่ยวเนื่องกัน จนได้ขนานนามว่า นครชัยบุรินทร์ และวันนี้จะพาท่านมาชมปราสาทขอมโบราณที่มีเป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยวที่ลือชื่อ และเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดบุรีรัมย์อีกด้วย นั่นก็คือปราสาทพนมรุ้ง 

ปราสาทพนมรุ้ง

ปราสาทพนมรุ้ง

ปราสาทพนมรุ้งตั้งอยู่บนเขาพนมรุ้ง  ในเขตอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์  โดยมีรูปแบบของศิลปะเขมรโบราณ ความงดงามและความยิ่ง ใหญ่ของปราสาทแห่งนี้ปรากฏให้เห็นได้ในรูปของงานสถาปัตยกรรม การจำหลักลวดลายการเลือกทำเลที่ตั้งบนยอดเขา มีการวางแผนผังตามแนวแกนที่มีองค์ประกอบของสิ่งก่อสร้าง ต่าง ๆ เรียงตัวกันเป็นแนวเส้นตรงพุ่งเข้าหาจุดศูนย์กลาง คือ ปราสาทประธาน จากงานก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่นี้  ชวนให้เกิดความสงสัยและอัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่งว่าคนในสมัยโบราณสร้างปราสาทหลังนี้ขึ้นมาได้อย่างไร

คำว่าพนมรุ้ง หรือวนํรุงเป็นภาษาเขมรแปลว่าภูเขาใหญ่” ตามจารึกหลักที่ 7 และหลักที่ 9 ได้ปรากฎชื่อผู้สร้างปราสาทแห่งนี้คือ นเรนทราทิตย์ ซึ่งเกี่ยวเนื่องเป็นพระญาติราชวงศ์มหิธรปุระ ในพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ผู้ที่สร้าง นครวัด นั่นเอง ปราสาทพนมรุ้งสร้างเพื่อสักการะแด่พระศิวะ ในศาสนาอินดู และตามจารึก ปราสาทพนมรุ้งไม่ได้สร้างเสร็จในคราวเดียว มีการก่อสร้างต่อมาหลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่พุทะศตวรรษที่ 15-17 

พนมรุ้ง เสานางเรียง ทางดำเนิน

พนมรุ้ง เสานางเรียง ทางดำเนิน

ปราสาทพนมรุ้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออกประกอบด้วยอาคารและสิ่งก่อสร้างต่างๆที่ตั้งเรียงรายขึ้นไปจากลาดเขาทางขึ้นจนถึงปรางค์ประธาน โดยมี เสานางเรียง คล้ายดอกบัวตูมตั้งสองข้างทาง ทางดำเนิน ซึ่งสมัยโบราณผู้ที่มีสิทธิ์ในการเดินบนทางดำเนินจะมีแค่พระเจ้าแผ่นดินและพราห์มเท่านั้น และเมื่อมาถึงทางเข้าตัวปราสาทจะเป็นสะพานนาคราช เป็นราวสะพานพญานาค 5 เศียร ตามความเชื่อเป็นการแบ่งระหว่าโลกมนุษย์และเทพเจ้า ตรงกลางสะพานจะมีการสลักที่พื้นเป็นดอกบัวห้ากลีบ หมายถึงเทพประจำทิศทั้งแปดในศาสนาฮินดู เป็นจุดที่ผู้มาทำการบูชา ตั้งจิตอธิษฐาน เมื่อเดินเข้าไปในตัวปราสาทจะพบปรางค์ประธานอยู่ตรงกลาง ซึ่งประดิษฐาน  “ศิวลึงค์” ซึ่งเป็นตัวแทนของพระศิวะ และด้านขวามือจะเป็นท่อโสมสูตร คือร่องน้ำมนต์ที่ไว้รับน้ำมนต์จากการสักการะศิวลึงค์นั่นเอง

พนมรุ้ง ปรางค์ประธาน

พนมรุ้ง ปรางค์ประธาน

 บรรยากาศรอบๆพนมรุ้ง ร่มรื่น สวยงามเป็นอย่างมาก เวลาที่เหมาะกับนักท่องเที่ยว ที่ชอบการถ่ายภาพ คือช่วงเช้าไม่เกินเที่ยงวัน และช่วงตอนเย็นหลังบ่ายสามโมง เพราะจะมีมุมถ่ายภาพสวยๆไม่ย้อนแสงจนเกินไป

ผมได้ถ่ายวีดีโอทั้งด้านในและรอบๆตัวปราสาทพนมรุ้งไว้ เพื่อเก็บรายละเอียดและบรรยากาศมาให้ชมกันครับ